“ชีวิตที่คุ้มค่า” ของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
“…ผมหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมคงจะไม่เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต แบบอย่างที่ไม่ดีนั้นก็คือผู้ว่าการจะต้องยอมอยู่ภายใต้การครอบงำ เป็นที่พอใจของนักการเมือง จึงจะอยู่ได้ เมื่อใดก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยปราศจากอิสรภาพในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อไรก็ตามผู้ว่าการจะต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมืองจึงจะอยู่ในตำแหน่งได้ เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของธนาคารชาติจะไม่มีเหลือ ทำนบกั้นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศจะพังทลายไปอีกทำนบหนึ่ง…”
คำกล่าวที่หนักแน่นมั่นคงข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของ คุณนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท่านที่ 13 (วาระการดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2522 ถึง 13 ก.ย.2527) ในจดหมายทิ้งท้ายในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง และบันทึกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติที่มีชื่อว่า “ชีวิตที่คุ้มค่า” ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณนุกูล ประจวบเหมาะ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 93 ปี ผู้เขียนในฐานะที่เคยได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยโดยสังเขปในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการฯ มาถ่ายทอดเพื่อร่วมไว้อาลัยและอุทิศบทความนี้ให้แด่ท่านครับ
อันที่จริง ทั้งก่อนและหลังจากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณนุกูลได้ผ่านงานต่างๆ อย่างหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยภาพจำซึ่งหลายท่านที่รู้จักหรือได้ศึกษาประวัติศาสตร์ มักจะมีต่อคุณนุกูลคือ การเป็นข้าราชการที่ดำรงความถูกต้องเที่ยงธรรมยึดหลักความถูกต้องมาก่อนความถูกใจ
คุณนุกูลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวารสารพระสยาม ฉบับพิเศษ ปี 2556 เพื่อรำลึกถึงสถานการณ์วิกฤติในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ไว้อย่าง น่าสนใจว่า “ผมเป็นผู้ว่าการในช่วงประเทศชาติยากจน ธปท.ก็ร่อแร่ ข้างในก็มีปัญหาบริษัทเงินทุน มีปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด เกิดพร้อมๆกัน ทั้งๆที่ปกติไม่ค่อยเกิดแบบนี้… และปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนจำกัด ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบัน…นอกจากนี้ยังมีปัญหาของบริษัทเงินทุนธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะง่อนแง่น เช่น เอเชียทรัสต์ที่แบงก์ชาติต้องเข้าไปเทกโอเวอร์ บริษัทเงินทุนที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เวลาหาทุนต้องกระเบียดกระเสียร ดูให้รอบคอบมีปัญหาตลอดเวลา หมดปัญหาเก่าก็มีปัญหาใหม่เข้ามา แก้ไขไปทีละขั้นตอน อย่างน้อยก็ทำให้เสถียรภาพทางการเงินดีขึ้น เงินเฟ้อที่สูงเกือบร้อยละ 20 ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 เมื่อผมออกจากธนาคาร”
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้เคยร่วมงานใกล้ชิดกับคุณนุกูล ได้กล่าวไว้ว่า “สมัยที่คุณนุกูล เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เห็นว่ากระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินเกินตัว ท่านได้ทำหนังสือที่เราเรียกกันว่า “กระบี่เขียว” เพราะชอบเซ็นชื่อด้วยหมึกสีเขียว ส่งถึงรัฐมนตรีให้ปรับการคลังให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ทำให้ประเทศล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อแบงก์ชาติทุกวันนี้หายากแล้วที่จะมีผู้บริหารประเทศบอกนักการเมืองให้แก้ไขปัญหาแบบนี้”
ในช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคุณนุกูลกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ปลดคุณนุกูลพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2527 หลังจากที่คุณนุกูลถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงจุดยืน แต่คุณนุกูลเห็นว่าจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี จะกลายเป็นว่า ผู้ว่าการต้องทำให้นักการเมืองพึงพอใจจึงจะอยู่ได้
ขอสดุดีความซื่อสัตย์และความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ยืนหยัดไว้ดีแล้วตลอดจนคุณงามความดีที่คุณนุกูลได้สร้างไว้ให้กับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ได้ส่งผลให้ท่านไปสู่สุคติสัมปรายภพครับ.
อ่านข่าวเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ประชาชนไม่ใช่ภาระ